General Dentistry

ทันตกรรมทั่วไป

ขูดหินปูน (Dental Scaling) เป็นวิธีในการกำจัดคราบหินปูนที่เกาะอยู่ตามบริเวณฟันและซอกฟัน โดยใช้เครื่องมือทันตกรรม หรือในบางครั้งแพทย์ก็อาจใช้อุปกรณ์ขูดหินปูนด้วยคลื่นความถี่สูง (Ultrasonic Scaler) เพื่อทำกำจัดคราบหินปูน

จำเป็นต้องขูดหินปูนหรือไม่
สาเหตุที่ต้องทำการขูดหินปูน เพราะถือเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันโรคเหงือก อีกทั้งยังเป็นการรักษาโรคเหงือกด้วยเช่นกัน โดยทันตแพทย์จะทำการขูดคราบหินปูนออก และขัดฟันให้สะอาด ซึ่งหลังจากการขูดหินปูนแล้ว ผู้เข้ารับการขูดหินปูนควรรักษาความสะอาดของช่องปาก และทำตามแนะนำของทันตแพทย์ เพื่อช่วยให้สุขภาพช่องปากดี และมีเหงือกที่แข็งแรง

ทั้งนี้การขูดหินปูนเพื่อรักษานั้นจะทำก็ต่อเมื่อเหงือกเริ่มแยกออกจากฟันจนกลายเป็นร่อง จนทำให้คราบแบคทีเรียตกลงไปในระหว่างฟันและเหงือกจนไม่สามารถทำความสะอาดได้ด้วยการแปรงฟัน นอกจากนี้ หากคราบแบคทีเรียเริ่มเกาะตัวกันจนกลายเป็นคราบแข็งก็ควรทำการขูดหินปูนเพื่อป้องกัน เนื่องจากหากปล่อยไว้ก็จะทำให้กลายเป็นโรคเหงือก และเป็นสาเหตุให้สูญเสียฟันได้

ข้อดีของการขูดหินปูน
ฟันและช่องปากจะสะอาดขึ้น ส่วนบางคนที่ใช้ฟันเคี้ยวอาหารด้านเดียว ฟันที่ไม่ได้ใช้จะมีหินปูนสะสมมาก แต่เมื่อขูดหินปูนออกแล้วการใช้งานจะดีขึ้น และฟันที่ถูกคลุมด้วยหินปูนก็จะได้รับการวินิจฉัยรักษา ตลอดจนการดูแลจากเจ้าของได้ดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลในการกำจัดกลิ่นปาก เพิ่มความสวยงาม ปรับปรุงบุคลิกภาพเพราะดูสะอาด มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น


Photo:https://trancy.net/deep-cleaning-for-periodontal-disease/

ข้อควรระวังของการขูดหินปูน
เช่นเดียวกับทันตกรรมชนิดอื่น ๆ ผู้ป่วยที่มีอาการป่วยร้ายแรง เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ โรคไตวายระยะสุดท้าย โรคตับ มะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะสุดท้าย มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ความดันโลหิตสูง เป็นกลุ่มที่ไม่ควรรับการขูดหินปูน เนื่องจากอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการขูดหินปูนได้ อีกทั้งผู้ที่มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะในขณะที่ขูดหินปูนอาจมีเลือดออก หากมีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือดก็อาจทำให้เป็นอันตรายได้

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงจนต้องใช้เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการขูดหินปูนด้วยอุปกรณ์คลื่นความถี่สูง หรือควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหลอดเลือดและหัวใจก่อน เนื่องจากคลื่นความถี่จากอุปกรณ์จะไปส่งผลให้เครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจทำงานผิดปกติ หรือหยุดการทำงานไปชั่วขณะได้

สตรีมีครรภ์สามารถทำการขูดหินปูนได้ เนื่องจากการขูดหินปูนจะช่วยลดความเสี่ยงอาการอักเสบหรือติดเชื้อของเหงือก ทว่าในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 อาจจำเป็นต้องปรึกษาทั้งทันตแพทย์และแพทย์ที่ดูแลการตั้งครรภ์ก่อนเพื่อความปลอดภัยของแม่และเด็ก และถ้าหากไม่ใช่กรณีฉุกเฉินก็ควรเลื่อนไปทำหลังคลอดบุตรเพื่อลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด

การอุดฟัน ( Tooth filling ) เป็นการรักษาฟันที่ถูกทำลายด้วยวิธีการเติมวัสดุสังเคราะห์ชนิดต่าง ๆ เข้าไปที่ตัวฟันเพื่อทดแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไปไม่ว่าจะเป็นฟันผุ สึก หรือฟันกร่อน เป็นต้น ซึ่งตัววัสดุอุดฟันนี้จะมาช่วยป้องกันไม่ให้ฟันผุเพิ่มขึ้น

วัสดุอุดฟันมีกี่แบบ
โดยทั่วไปแล้ววัสดุอุดฟันจะมีด้วยกันอยู่ 2 แบบ คือวัสดุสีโลหะและวัสดุสีเหมือนฟัน 

คลินิกทันตกรรมบิ๊กเม้าท์เท็นให้บริการอุดฟันวัสดุสีเหมือนฟัน
การอุดฟันวัสดุสีเหมือนฟัน หรือ Resin Composite Filling เป็นการอุดฟันสีเหมือนฟันที่มีความเป็นธรรมชาติ และเป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบันมากที่สุด สามารถใช้อุดฟันได้ทั้งฟันหน้าและฟันกรามซึ่งขั้นตอนในการทำนั้นจะค่อนข้างยุ่งยากกว่าแบบโลหะ เนื่องจากจะต้องทำโดยผ่านการฉายแสงเท่านั้น ขั้นแรกจะต้องกรอเนื้อฟันที่ผุออกก่อน แล้วหลังจากนั้นจะทำการใส่วัสดุสีเหมือนฟันเข้าไป ซึ่งขั้นตอนนี้จะทำสลับกับการฉายแสงเพื่อให้วัสดุเกิดการแข็งตัว และหากแข็งตัวแล้วทันแพทย์จะทำการกรอตกแต่งวัสดุอีกครั้งเพื่อตกแต่งฟันให้สวยงาม

ข้อดีการอุดฟันวัสดุสีเหมือนฟัน

  • มีความสวยงามเนื่องจากมีสีที่เหมือนฟันธรรมชาติ
  • สามารถใช้ได้ทั้งฟันหน้าและฟันกราม
  • สามารถใช้งานฟันได้ทันที ไม่ต้องรอ 24 ชั่วโมงเหมือนการอุดฟันแบบโลหะ
  • ปลอดภัยเนื่องจากตัววัสดุไม่มีสารปรอทผสม

การคงรักษาฟันไว้เป็นผลดีต่อความสวยงามของช่องปากและฟัน รวมถึงการบดเคี้ยวอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ แต่บางครั้งการถอนฟันออกไปก็เป็นสิ่งจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ตัวอย่างสาเหตุที่จำเป็นต้องถอนฟัน 

  • เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดความเสียหายขึ้นกับฟันมากเกินกว่าที่ทันตแพทย์จะซ่อมแซมแก้ไขได้
  • ฟันผุรุนแรง จนเกิดความเสียหายขึ้นกับโพรงประสาทฟัน
  • เป็นโรคเหงือกอย่างรุนแรง
  • มีปัญหาฟันคุด
  • เตรียมพื้นที่สำหรับการจัดฟัน
  • เหตุผลอื่น ๆ อีก เช่น การถอนฟันน้ำนมของเด็ก ที่ไม่ยอมหลุดออก เพื่อให้ฟันแท้ได้ขึ้นมา การถอนเนื่องจากมีอาการติดเชื้อ หรือถอนเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาโรคร้ายแรงบางอย่าง



การถอนฟันนั้นค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็เสี่ยงที่เชื้อแบคทีเรียในปากจะแพร่เข้าสู่ร่างกายทางกระแสเลือด นอกจากนี้เนื้อเยื่อของเหงือกก็อาจติดเชื้อได้เช่นกัน ทั้งนี้คนไข้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงอาจต้องได้รับยาปฏิชีวนะก่อนและหลังถอนฟัน การถอนฟันแต่ละครั้งจึง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการรักษาของตนเอง ยาและอาหารเสริมที่กำลังใช้อยู่ รวมถึงหากมีอาการป่วยหรือได้รับการรักษาข้อใดต่อไปนี้

  • มีปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจหรือต้องใช้ลิ้นหัวใจเทียม
  • เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด
  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • เป็นโรคตับ
  • เคยผ่าตัดใส่ข้อเทียม เช่น ข้อต่อสะโพกเทียม
  • มีประวัติเยื่อบุหัวใจอักเสบจากการติดเชื้อ (Bacterial Endocarditis)

ฟันคุด (Impacted Tooth, Wisdom Tooth) คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นในช่องปากได้ตามปกติ อาจขึ้นได้เพียงบางส่วนหรือไม่ขึ้นมาเลย เพราะเป็นฟันที่ขึ้นช้ากว่าฟันซี่อื่น ๆ ทำให้ไม่มีที่ว่างขึ้นได้ พบได้บ่อยที่สุดบริเวณฟันกรามล่างซี่ที่สาม (Third Molar) หรือซี่สุดท้าย จนคิดกันว่าฟันคุดจะขึ้นเฉพาะบริเวณนี้ แต่ฟันคุดสามารถเกิดกับฟันซี่อื่นได้เหมือนกัน เช่น ฟันเขี้ยว (Canine) ฟันกรามน้อย (Premolar) เป็นต้น โดยปกติแล้วฟันกรามซี่สุดท้ายควรขึ้นเมื่ออายุ 16-22 ปี แต่เมื่อถึงช่วงอายุดังกล่าวแล้วแต่ฟันยังไม่ขึ้น ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติเพื่อทำการรักษาก่อนที่อาการปวดจะเกิดขึ้น

เมื่อทันตแพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยมีฟันคุด วิธีการที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดฟันคุดออกตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่จะมีอาการปวด และการผ่าตัดก็สามารถทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ผลข้างเคียงน้อยกว่าเมื่อปล่อยทิ้งไว้จนเกิดอาการปวดหรือบวมไปแล้ว เพราะถ้าไม่ผ่าตัดออกจะทำให้เกิดผลเสียดังต่อไปนี้

  1. เหงือกอักเสบ เป็นที่หมักหมมของเศษอาหาร ทำให้มีกลิ่นเหม็นและบวม
  2. ปริทันต์อักเสบ ทำให้ฟันข้างเคียงผุได้ง่าย เพราะยากต่อการทำความสะอาด
  3. มีการละลายของรากฟันซี่ข้างเคียง เนื่องจากแรงดันของฟันคุด
  4. ปวดฟัน ปวดกระดูกขากรรไกร เนื่องจากเกิดการติดเชื้อ หรือมีแรงดันต่อโพรงประสาทฟันบริเวณปลายรากฟัน บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุ
  5. แรงดันของฟันคุดทำให้เกิดการบิดเกของฟันข้างเคียง ฟันซี่หน้า และซี่ถัดไป
  6. ขากรรไกรบริเวณฟันคุดหักง่ายเมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือได้รับแรงกระแทก
  7. ฟันคุดที่ฝังอยู่ในขากรรไกร จะมีเยื่อหุ้ม ซึ่งอาจทำให้พัฒนาไปเป็นถุงน้ำ (Cyst) และโตขึ้นเรื่อยๆ จนอาจเกิดมะเร็งกรามช้างตามมาได้

ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าฟันคุด
ภายหลังผ่าตัดอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น อาการติดเชื้อหลังผ่าตัด หากฟันคุดอยู่ลึก ต้องใช้เวลาในการทำนาน หรือคนไข้ไม่ดูแลรักษาความสะอาดแผลผ่าตัด, เลือดออกมาก เช่น ฟันคุดอยู่ใกล้เส้นเลือดมาก หรือไหมที่เย็บไว้หลุด เป็นต้น หากเป็นดังนี้ควรรีบกลับมาพบทันตแพทย์ทันที, ริมฝีปากชาหลังผ่าตัด เนื่องจากฟันคุดอยู่ใกล้เส้นประสาทหรือรากของฟันคุดเกี่ยวอยู่กับเส้นประสาทที่มาเลี้ยงฟัน รวมทั้งผ่าแล้วหน้าบวม อ้าปากไม่ได้ อาการแพ้ยา อาจเป็นยาแก้ปวด, ยาแก้อักเสบ ลดบวม ควรหยุดยาและรีบกลับมาพบทันตแพทย์ทันที โดยอาการทุกอย่างจะค่อยๆ เริ่มดีขึ้นและหายเป็นปกติภายใน 3 ถึง 7 วัน หลังจากผ่าตัด 7 วัน แพทย์จะทำการนัดเพื่อตัดไหมเย็บแผล

ปัญหาพบบ่อยที่อาจเจอได้หลังจากถอนฟัน 

1. ปัญหาเลือดออก (Hemorrhage)
หลังถอนฟันเป็นปกติที่จะมีเลือดออกได้ – แนะนำให้คุณกัดผ้าก็อซ และสามารถเปลี่ยนได้เรื่อย ๆ ทุก 45-60 นาที
ปกติเลือดควรจะออกลดลงเรื่อยๆ และหยุดในที่สุด แต่หากมีเลือดออกปริมาณมาก หรือเลือดออกไม่หยุดหลัง 6 ชม.
หรือมีอาการหน้ามืด เหงื่อแตก ใจสั่น เป็นลม กรุณารีบติดต่อเจ้าหน้าที่ของเรา

2.การติดเชื้อหลังถอนฟัน (Post operative infection)
การติดเชื้อมักเกิดขึ้นในวันที่ 3-4 หลังถอนฟัน อาการประกอบด้วย มีไข้ ปวดบวมแดงร้อนบริเวณแก้มด้านที่ถอนฟัน
หากมีการติดเชื้ออาจต้องรับประทานยาปฎิชีวนะ และนัดติดตามอาการกับทันตแพทย์อย่างใกล้ชิด

3. กระดูกเบ้าฟันอักเสบ (Dry Socket)
ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อลิ่มเลือดที่ก่อตัวด้านบนแผล หลุดหรือละลายออกเร็วเกินไป ทำให้ไม่มีอะไรปกคลุมเบ้ากระดูกและเส้นประสาทด้านล่าง
Dry Socket มักเกิดในวันที่ 3-4 หลังจากถอนฟัน อาการคือมีปวดมาก อาจปวดร้าวขึ้นศีรษะ หรือมีกลิ่นปากที่เหม็นรุนแรง

4.อ้าปากได้จำกัด (Trismus)
อาการอ้าปากได้จำกัดเกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อที่ใช้บดเคี้ยว มักพบในการถอนฟัน หรือผ่าฟันคุด หรือมีการฉีดยาชาบล๊อคเส้นประสาทส่วนปลายที่ขากรรไกรเพื่อลดความเจ็บปวดระหว่างถอนฟัน
การรักษาคือการกายภาพบำบัด ร่วมกับการใช้น้ำอุ่นประคบกล้ามเนื้อด้านนอก และอมน้ำเกลืออุ่นบ่อยๆ หากมีการติดเชื้อร่วมด้วย อาจต้องรับประทานยาปฎิชีวนะเพิ่มเติม

5. อาการชา
เส้นประสาทส่วนปลายอาจได้รับความเสียหายในระหว่างการถอนฟัน ซึ่งสามารถทำให้เกิดอาการชาตามที่ต่างๆ เช่น ริมฝีปาก ลิ้น หรือ คาง
อาการชาหลังถอนฟันเป็นภาวะที่พบได้น้อย และมักเป็นอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น 

ราคาถอนฟันและผ่าฟันคุด

ราคาถอนฟันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนี้
-ตำแหน่งของฟัน และความยากในการถอนฟัน
-ความเชี่ยวชาญของทันตแพทย์ที่ทำการถอนฟันให้กับคุณ โดยปกติทันตแพทย์ทั่วไปก็สามารถถอนฟันให้คุณได้ แต่กรณีที่การรักษามีความซับซ้อนสูง คุณอาจได้รับการถอนฟันโดยศัลยแพทย์ช่องปากซึ่งราคาถอนฟันก็จะสูงขึ้น
-ประเภทของการถอนฟัน – การผ่าฟันคุดซึ่งยังไม่โผล่พ้นเหงือก จะต้องเปิดเหงือกก่อนจะถอนฟันออกมาได้ จึงมีความซับซ้อน และใช้เวลาในการรักษามากกว่า

^