Removable Dentures

ฟันปลอมถอดได้

Smiling older man with glasses, wearing a light blue button-down shirt, arms crossed.

ฟันปลอมใส่สบาย
ทำให้เคี้ยวได้สะดวก
และกลับมายิ้มได้อีกครั้ง

ฟันปลอม คือทางเลือกในการทดแทนฟันที่สูญเสียไป ไม่ว่าจะเป็นบางซี่หรือทั้งปาก เพื่อช่วยในการบดเคี้ยว การพูด และเสริมสร้างความมั่นใจในรอยยิ้มของคุณ ที่ Bigmouthten เรามีฟันปลอมหลายประเภทให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล

เหตุผลที่ควรใส่ฟันปลอม หลังสูญเสียฟันไป

การสูญเสียฟันไม่ใช่เพียงปัญหาด้านความสวยงาม แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากและใบหน้าในระยะยาว หากไม่ใส่ฟันทดแทน อาจเกิดผลเสียหลายประการ เช่น

รูปหน้าที่เปลี่ยนไป เมื่อไม่มีฟันพยุงโครงหน้า แก้มและริมฝีปากจะยุบตัว ทำให้ใบหน้าดูแก่ลงอย่างเห็นได้ชัด

การเคี้ยวอาหารลำบาก การบดเคี้ยวจะไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร และอาจทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

กระดูกขากรรไกรยุบตัว เมื่อไม่มีรากฟันคอยกระตุ้น กระดูกบริเวณนั้นจะค่อย ๆ สลายตัว (bone resorption) ทำให้ปริมาตรกระดูกลดลงในระยะยาว

ฟันข้างเคียงเคลื่อนตัว ฟันข้างเคียงอาจล้ม เอียง หรือเคลื่อนเข้าหาช่องว่างที่ไม่มีฟัน ทำให้การสบฟันผิดปกติ และอาจต้องจัดฟันก่อนใส่ฟันปลอมในอนาคต

ปัญหาในการพูด การออกเสียงบางคำอาจไม่ชัด โดยเฉพาะหากฟันหน้าหายไป

เสี่ยงต่อโรคเหงือก ช่องว่างระหว่างฟันเป็นจุดสะสมของคราบอาหาร ทำความสะอาดได้ยาก จึงเพิ่มโอกาสเกิดเหงือกอักเสบ

ปัญหาข้อต่อขากรรไกร (TMJ) เมื่อเคี้ยวไม่สมดุลนาน ๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณขากรรไกรหรือกล้ามเนื้อใบหน้า

Smiling elderly man with white hair and beard wearing a light blue shirt indoors.

ประเภทของฟันปลอม

1. ฟันปลอมถอดได้ (Removable Denture)

ฟันปลอมประเภทนี้สามารถถอดเข้า–ออกได้ด้วยตนเอง เหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียฟันบางซี่หรือทั้งปาก โดยมีให้เลือก 2 แบบ:

• ฟันปลอมบางส่วน (Partial Denture): เหมาะสำหรับผู้ที่ยังมีฟันธรรมชาติหลงเหลืออยู่บางซี่

• ฟันปลอมทั้งปาก (Complete Denture): สำหรับผู้ที่สูญเสียฟันทั้งหมดในขากรรไกรบนหรือล่าง

2. ฟันปลอมแบบติดแน่น (Fixed Denture)

เป็นฟันปลอมที่ยึดติดในช่องปากถาวร ไม่สามารถถอดออกเองได้ ให้ความรู้สึกและการใช้งานใกล้เคียงกับฟันจริงมากที่สุด

ประเภทของฟันปลอมแบบติดแน่น ได้แก่:

• สะพานฟัน (Dental Bridge)
• รากฟันเทียม (Dental Implant)

ในหน้านี้ เราจะพาคุณทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเภทฟันปลอมถอดได้ ข้อดี ข้อควรรู้ในการดูแล รวมถึงแนวทางเลือกฟันปลอมที่ตรงตามความต้องการของคุณมากที่สุด

Smiling woman with glasses holding a ceramic mug indoors.

ฟันปลอมแบบถอดได้ สามารถผลิตจากวัสดุได้หลากหลายชนิด ซึ่งแต่ละแบบมีคุณสมบัติ ข้อดี และข้อจำกัดต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ทั้งในด้านการใช้งาน ความสบาย ความสวยงาม และงบประมาณ วัสดุหลัก ๆ ที่นิยมใช้ในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

วัสดุทำฟันปลอมแบบถอดได้

Partial denture held by a gloved hand

ฟันปลอมฐานอะคริลิกเรซิน (Acrylic Resin Denture)

Dental prosthetic being held by a gloved hand
  • วัสดุที่นิยมใช้สำหรับฟันปลอมถอดได้ ทั้งแบบบางส่วนและทั้งปาก

    • ข้อดี ราคาไม่สูง ทำและซ่อมได้ง่าย

    • ข้อจำกัด ตัวฐานมักหนากว่าวัสดุชนิดอื่น อาจรู้สึกไม่สบายในช่วงแรก

  • มักใช้เป็นฟันปลอมชั่วคราว ในระหว่างรอการรักษาหลัก เช่น การฝังรากเทียม หรือการทำฟันปลอมฐานโลหะ

ฟันปลอมแบบยืดหยุ่น (Flexible Denture – เช่น Valplast)

  • ฟันปลอมชนิดนิ่ม ฐานฟันมีความยืดหยุ่น ไม่มีตะขอโลหะ และให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ

    • ข้อดี ใส่สบาย ยืดหยุ่นสูง ตะขอเป็นสีเนื้อ กลมกลืนกับเหงือก ทำให้ดูเป็นธรรมชาติ

    • ข้อจำกัด ซ่อมแซมได้ยากกว่าวัสดุทั่วไป และราคาสูงกว่าแบบอะคริลิก

  • เหมาะสำหรับทำในกรณีสูญเสียฟัน 1-2 ซี่เท่านั้น ไม่เหมาะในกรณีใส่ฟันทั้งด้านซ้าย-ขวา หรือใส่ฟันหลายๆซี่ เนื่องจากฟันปลอมแบบนิ่มจะรับแรงในการบดเคี้ยวได้ไม่มากนัก

Dentist holding a partial denture with metal clasps.

ฟันปลอมฐานโลหะ (Metal Framework Denture)

  • นิยมใช้กับฟันปลอมบางส่วน โดยมีโครงโลหะช่วยยึดกับฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่

    ข้อดี แข็งแรง ทนทาน ฐานบางและเบา ใส่สบายกว่าฟันปลอมแบบอะคริลิก

    ข้อจำกัด ราคาสูงกว่า และอาจเห็นตะขอโลหะขณะอ้าปาก

  • สามารถใช้เป็นฟันปลอมถาวรได้ แต่ควรติดตามอาการกับทันตแพทย์เป็นระยะ เพื่อประเมินสภาพการใช้งานในระยะยาว

ฟันปลอมแบบถอดได้
มีอายุการใช้งานนานไหม

อายุการใช้งานของฟันปลอมแบบถอดได้ ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ในการผลิต และการดูแลรักษาของผู้ใช้งาน โดยสามารถแบ่งตามประเภทวัสดุหลัก ๆ ได้ดังนี้

  • ฟันปลอมฐานโลหะ (Metal Framework Denture)

หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม และพบทันตแพทย์เพื่อตรวจติดตามเป็นประจำ ฟันปลอมชนิดนี้สามารถใช้งานได้นานกว่า 10 ปีขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม หากมีการสูญเสียฟันเพิ่มเติมในอนาคต อาจจำเป็นต้อง เปลี่ยนเป็นฟันปลอมชุดใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพช่องปากที่เปลี่ยนแปลงไป

  • ฟันปลอมฐานอะคริลิก หรือวัสดุพลาสติก (Acrylic Resin Denture)

มีอายุการใช้งาน สั้นกว่า โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี

เหมาะสำหรับการใช้งาน ชั่วคราว เช่น ระหว่างรอการฝังรากฟันเทียม หรือก่อนทำฟันปลอมฐานโลหะในระยะถาวร

วิธีทำความสะอาด
ฟันปลอม
แบบถอดได้

Partial denture in a hand being cleaned with a toothbrush.

การดูแลฟันปลอมอย่างเหมาะสม ช่วยยืดอายุการใช้งาน และลดการสะสมของแบคทีเรีย กลิ่นไม่พึงประสงค์ รวมถึงป้องกันการเสียรูปของวัสดุ

การทำความสะอาดประจำวัน

• ล้างฟันปลอมหลังมื้ออาหาร และแปรงด้วยแปรงขนนุ่ม

• หลีกเลี่ยงการใช้ยาสีฟันทั่วไป เพราะอาจทำให้พื้นผิวฟันปลอมเป็นรอย

• ใช้น้ำยาหรือผลิตภัณฑ์เฉพาะสำหรับฟันปลอม เพื่อทำความสะอาดอย่างอ่อนโยนและปลอดภัย

การใช้เม็ดฟู่

• เม็ดฟู่สำหรับฟันปลอมช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ลดคราบสะสมและกลิ่นไม่พึงประสงค์

• ควรใช้เป็นประจำร่วมกับการแปรงฟันปลอม เพื่อความสะอาดที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

การเก็บรักษาเมื่อไม่ได้ใส่ (เช่น ตอนกลางคืน)

• แช่ฟันปลอมในน้ำสะอาดภายในกล่องที่มีฝาปิด เพื่อป้องกันฝุ่น สิ่งสกปรก หรือสัตว์เลี้ยงที่อาจมาทำให้ฟันปลอมเสียหาย

• หลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อน เพราะอาจทำให้ฟันปลอมเสียรูปหรือบิดเบี้ยว

ขั้นตอนการทำฟันปลอมถอดได้ทั้งปาก

การทำฟันปลอมแบบถอดได้ (ทั้งบางส่วนและทั้งปาก) อาจใช้เวลาหลายครั้งในการนัดหมาย เพื่อให้ฟันปลอมพอดี ใส่สบาย และใช้งานได้อย่างมั่นใจ โดยขั้นตอนหลักมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ดังนี้:

  1. ตรวจสุขภาพช่องปาก
    ทันตแพทย์จะตรวจฟัน เหงือก และกระดูกขากรรไกร เพื่อประเมินสุขภาพช่องปากโดยรวม และวางแผนการทำฟันปลอมให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

  2. พิมพ์ปากเพื่อทำแบบจำลอง
    ทันตแพทย์จะพิมพ์แบบจำลองของช่องปาก เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการออกแบบฟันปลอมให้พอดีกับสภาพปากจริง

  3. ทดลองใส่ฟันปลอมก่อนทำชุดจริง
    ในกรณีที่ผู้ป่วยสูญเสียฟันหลายซี่ ทันตแพทย์จะทำขี้ผึ้งกัดสบ (bite block) เพื่อทดลองระดับการสบฟัน (Vertical Dimension – VD) และตำแหน่งของฟัน

    ขั้นตอนนี้ช่วยให้ฟันปลอมที่ทำออกมาสบฟันได้ดี เหมาะกับรูปหน้าและการพูด เมื่อแบบทดลองพอดีแล้ว ทันตแพทย์จะส่งทำฟันปลอมถาวรจากวัสดุที่เลือกไว้

  4. ใส่ฟันปลอมตัวจริง
    ทันตแพทย์จะใส่ฟันปลอมให้ ตรวจสอบความพอดี และแนะนำวิธีการดูแลรักษาให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัยและยาวนาน

  5. นัดติดตามผลเป็นระยะ
    หลังจากเริ่มใส่ฟันปลอมแล้ว ทันตแพทย์จะนัดตรวจติดตาม เพื่อปรับจุดที่กดเจ็บหรือหลวม

เนื่องจากกระดูกขากรรไกรอาจเปลี่ยนแปลงตามเวลา บางกรณีอาจต้องมีการ เสริมฐานฟันปลอม (reline) เพื่อให้ฟันปลอมยังคงพอดีกับสันเหงือก

FAQs
คำถามที่พบบ่อย

  • การเลือกฟันปลอมที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับจำนวนฟันที่สูญเสียไป สภาพช่องปาก งบประมาณ และความสะดวกในการใช้งาน โดยฟันปลอมถอดได้และฟันปลอมแบบติดแน่นมีข้อดีต่างกัน

    • ฟันปลอมถอดได้

    เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการทางเลือกที่ราคาไม่สูง ถอดล้างทำความสะอาดได้ง่าย มีทั้งแบบฐานอะคริลิก ฐานโลหะ และแบบยืดหยุ่น

    • ฟันปลอมแบบติดแน่น

    เช่น รากฟันเทียม หรือ สะพานฟัน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการความแข็งแรง ใกล้เคียงฟันธรรมชาติ ใช้งานสะดวก ไม่ต้องถอดเข้า–ออก แต่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า และต้องพิจารณาสุขภาพช่องปากร่วมด้วย

    หากไม่แน่ใจว่าฟันปลอมแบบใดเหมาะกับคุณที่สุด แนะนำให้พบทันตแพทย์เพื่อตรวจและวางแผนร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เหมาะสมทั้งด้านการใช้งาน ความสวยงาม และสุขภาพช่องปากในระยะยาว

  • ฟันปลอมแบบถอดได้สามารถใช้เคี้ยวอาหารได้ตามปกติ ในช่วงแรกควรค่อย ๆ ปรับตัว โดยเริ่มจากอาหารที่นิ่ม หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ และเคี้ยวช้า ๆ ใช้ฟันทั้งสองข้างเคี้ยวอาหารเพื่อให้ฟันปลอมอยู่ตัวและไม่กระดก ที่สำคัญ อย่าลืมทำความสะอาดฟันปลอมทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันคราบสะสม กลิ่นไม่พึงประสงค์ และช่วยยืดอายุการใช้งานของฟันปลอม

  • หลายคนอาจรู้สึกว่ายังไม่จำเป็นต้องใส่ฟันปลอมทันทีหลังถอนฟัน แต่การปล่อยให้ช่องว่างของฟันหายไปนานโดยไม่ใส่ฟันทดแทน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากในระยะยาว เช่น

    • กระดูกเบ้าฟันตีบแคบลง: เมื่อไม่มีรากฟันคอยกระตุ้น กระดูกบริเวณนั้นจะค่อย ๆ ยุบตัวลง ทำให้การใส่ฟันปลอม หรือการฝังรากเทียมในอนาคตทำได้ยากขึ้น หรืออาจต้องเสริมกระดูกก่อน

    • ฟันข้างเคียงล้มเข้าหาช่องว่าง: ฟันที่อยู่ติดช่องว่างอาจล้ม เอียง หรือเคลื่อนเข้าหาช่องว่าง ส่วนฟันคู่สบอาจยื่นลงมา ส่งผลให้แนวฟันผิดตำแหน่ง และอาจต้องจัดฟันก่อนจึงจะสามารถใส่ฟันปลอมได้อย่างเหมาะสม

    หากยังไม่พร้อมใส่ฟันปลอมทันที ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อพิจารณาทางเลือกชั่วคราว เช่น การใส่ฟันปลอมถอดได้ชั่วคราว เพื่อกันช่องว่างไม่ให้ฟันล้ม พร้อมวางแผนการรักษาระยะยาวที่เหมาะสมในอนาคต

  • หากรู้สึกว่าฟันปลอมแบบถอดได้เริ่มหลวม แนะนำให้นัดพบทันตแพทย์ที่เป็นผู้ทำฟันปลอมชุดนั้น เพื่อให้ตรวจเช็กสภาพโดยละเอียด

    ในบางกรณีอาจสามารถ เสริมฐานฟันปลอม (reline) ได้ เพื่อให้ฟันปลอมกลับมาพอดีกับสภาพเหงือกที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่หากพบว่าฟันธรรมชาติที่เคยรองรับตะขอฟันปลอมมีการโยก หลุด หรือหายไป การทำฟันปลอมชุดใหม่อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า

    การตรวจติดตามกับทันตแพทย์เป็นระยะจะช่วยให้สามารถปรับแก้หรือวางแผนการทำฟันปลอมใหม่ได้อย่างทันท่วงที เพื่อการใช้งานที่มั่นใจและปลอดภัยค่ะ.

  • ในช่วงแรกของการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจรู้สึกอึดอัด คล้ายมีสิ่งแปลกปลอมในช่องปาก รวมถึงอาจมีน้ำลายหลั่งออกมามากกว่าปกติ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติของร่างกายขณะเริ่มปรับตัวกับฟันปลอมใหม่ การออกเสียงอาจไม่ชัดในช่วงแรก โดยเฉพาะผู้ที่ใส่ฟันปลอมแบบถอดได้บน เนื่องจากฟันปลอมจะคลุมบริเวณเพดานปาก ทำให้ลิ้นสัมผัสกับฟันปลอมแทนตำแหน่งปกติ แต่โดยทั่วไปแล้วร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัว และอาการเหล่านี้มักจะดีขึ้นภายในไม่กี่วันถึงสัปดาห์

    หากมีอาการเจ็บมากหรือไม่สบายจนใช้งานลำบาก ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจและปรับฟันปลอมให้พอดีกับช่องปากมากขึ้น

    การเลือกทำฟันปลอมกับทันตแพทย์เฉพาะทางและการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ใส่ฟันปลอมได้สบายขึ้น และใช้งานได้ดีในระยะยาวค่ะ

  • ฟันปลอมแบบถอดได้ โดยเฉพาะชนิดฐานโลหะ หากได้รับการดูแลอย่างดี สามารถมีอายุการใช้งานได้นานกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม หากฟันปลอมเกิดการหล่น แตก ชำรุด หรือมีฟันธรรมชาติที่เคยเป็นตัวยึดตะขอฟันปลอมหลุดไป การใช้งานอาจไม่พอดีเหมือนเดิม และอาจจำเป็นต้องทำฟันปลอมชุดใหม่ให้เหมาะกับสภาพช่องปากที่เปลี่ยนแปลงไป

    การพบทันตแพทย์เพื่อตรวจเช็กฟันปลอมเป็นระยะ จะช่วยให้ทราบว่าเมื่อไรควรเปลี่ยนฟันปลอม และสามารถใช้งานได้อย่างมั่นใจต่อเนื่องค่ะ.

  • ยังคงต้องขูดหินปูนและพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอค่ะ โดยเฉพาะในผู้ที่ยังมีฟันธรรมชาติหลงเหลืออยู่ เพราะฟันเหล่านี้ยังสามารถเกิดหินปูนและโรคเหงือกได้

    การตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำยังช่วยให้ทันตแพทย์ตรวจเช็กความพอดีของฟันปลอม หากฟันธรรมชาติที่รองรับตะขอฟันปลอมเกิดโยกหรือหลุด อาจทำให้ฟันปลอมหลวม หรือใช้งานได้ไม่ดีเหมือนเดิม ซึ่งในบางกรณี อาจต้องทำฟันปลอมชุดใหม่ เพื่อให้พอดีกับสภาพช่องปากที่เปลี่ยนไปค่ะ

  • หากไม่ดูแลฟันปลอมแบบถอดได้ให้สะอาด อาจทำให้เกิดกลิ่นปาก เหงือกอักเสบ หรือ ติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในช่องปากได้ นอกจากนี้คราบสะสมยังทำให้ฟันปลอมเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ควรล้างฟันปลอมหลังอาหาร แปรงด้วยแปรงขนนุ่ม และแช่ในน้ำสะอาดเมื่อไม่ได้ใช้งาน โดยทั่วไปควรถอดฟันปลอมก่อนนอน เพื่อให้เหงือกได้พัก ลดการกดทับ และช่วยยืดอายุการใช้งานของฟันปลอมค่ะ

Restore your smile and enjoy your food again.

Restore your smile and enjoy your food again.

ทำฟันปลอมที่ Bigmouthten เพราะเราใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผน การเลือกวัสดุ ไปจนถึงความสบายในการใช้งาน เพื่อให้คุณกลับมายิ้มได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง เรามีบริการฟันปลอมครบทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นฟันปลอมแบบถอดได้ ฟันปลอมติดแน่น สะพานฟัน หรือรากฟันเทียม พร้อมเทคโนโลยีทันสมัย และการออกแบบโดยทีมทันตแพทย์เฉพาะทาง