ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับ การจัดฟันในเด็ก

คลิกเพื่ออ่าน

    ทันตกรรมจัดฟันสำหรับเด็ก

    สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (American Association of Orthodontists; AAO) แนะนำช่วงอายุที่เหมาะจะพาลูกของคุณไปพบกับทันตแพทย์จัดฟันเมื่อเด็กอายุประมาณ 7 ปี เพื่อตรวจสุขภาพฟันและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

    การพาน้อง ๆ เข้ามาตรวจกับทันตแพทย์จัดฟันเฉพาะทาง จะช่วยให้ทันตแพทย์ได้ดูการเจริญเติบโตของขากรรไกรและพัฒนาการการกัด  โดยปกติเด็ก จะมีฟันน้ำนมผสมกับฟันแท้ที่เจริญขึ้นพร้อม ๆ กับใบหน้าและขากรรไกร ในกรณีที่ตรวจพบปัญหาแต่เนิ่น ๆ ทันตแพทย์จัดฟันเฉพาะทางอาจจะติดตามพัฒนาการของเด็กเป็นระยะ ๆ  ขึ้นอยู่กับประเภทปัญหาที่พบ ซึ่งหากมีปัญหาที่ต้องได้รับการจัดฟันโดยทันที การไม่ได้พาน้องๆ เข้ามาตรวจ ก็อาจจะทำให้ได้รับการรักษาที่ล่าช้า ซึ่งทำให้การรักษายากขึ้น 

    สำหรับผู้ปกครองที่อยากพาน้อง ๆ เข้ามาตรวจฟันกับทันตแพทย์จัดฟันเฉพาะทาง และมีข้อสงสัยเกี่ยวกับ การจัดฟันในเด็ก บิ๊กเม้าท์เท็นได้รวบรวมคำถามที่พบบ่อย เพื่อเตรียมความพร้อม สู่การดูแลฟันลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ มาฝากกันค่ะ 

    ควรพาลูกไปพบหมอจัดฟันเมื่อไหร่ดี ?

    เนื่องจากการสบฟันที่ผิดปกติบางอย่างสามารถแก้ไขได้เบื้องต้น หากตรวจพบและทำการรักษาได้ตั้งแต่เด็ก สมาคมทันตแพทย์จัดฟันแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็ก ๆ ไปพบทันตแพทย์จัดฟันครั้งแรก เพื่อตรวจหาความผิดปกติของการสบฟัน อย่างช้าไม่เกิน 7 ขวบ ในเด็กวัยนี้ยังมีฟันชุดผสม ได้แก่ฟันน้ำนมและฟันฟันแท้ขึ้นแล้วบางซี่่

    ข้อมูลที่จะได้รับเมื่อมาพบทันตแพทย์จัดฟันในครั้งแรก

    โดยทั่วไปทันตแพทย์จัดฟันจะตรวจดูว่าน้อง ๆ มีการสบฟันที่ดีไหม หรือความผิดปกติของการสบฟันในขณะนั้นหรือไม่ หรือมีแนวโน้มที่อาจจะเกิดการสบฟันผิดปกติในอนาคตได้ไหม ข้อมูลที่ผู้ปกครองจะได้รับจากการพาน้อง ๆ มาพบทันตแพทย์จัดฟันครั้งแรก ได้แก่

    1. มีปัญหาการสบฟันหรือไม่ ถ้ามี ได้แก่อะไรบ้าง

    2. หากพบปัญหา จะมีทางเลือกสำหรับการรักษาอะไรบ้าง

    3. มีฟันซี่ไหนมีโอกาสจะต้องถูกถอนหรือไม่

    4. การรักษาจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหน

    5. ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษา

    จำเป็นต้องเอกซเรย์ในการตรวจและปรึกษาจัดฟันในครั้งแรกไหม

    สำหรับการตรวจฟันครั้งแรก ภาพเอกซเรย์บางประเภท เช่น ภาพรังสีพานอรามิก (panoramic) และภาพรังสีกะโหลกศีรษะและใบน้าด้านข้าง อาจจะจำเป็นสำหรับน้อง ๆ บางราย ในขณะที่บางราย ทันตแพทย์อาจจะพิจารณาเลื่อนการถ่ายจนกว่าจะถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมของการจัดฟัน

    ลูกจะได้รับอันตรายจากรังสีหรือไม่

    ภาพถ่ายรังสีจะทำให้ทันตแพทย์สามารถวินิจฉัยปัญหาของการสบฟันได้อย่างถูกต้อง ดังนั้นการส่งเอกซเรย์จึงมีความจำเป็น  ในปัจจุบันการถ่ายภาพรังสี ผู้ป่วยจะได้รับรังสีที่ลดลงอย่างมากเนื่องจากการพัฒนาที่ดีขึ้นของเครื่องเอกซเรย์

    เด็กทุกรายควรได้รับการจัดฟันเบื้องต้น (Early treatment) ตั้งแต่ชุดฟันน้ำนมหรือไม่

    มีการสบฟันผิดปกติเพียงบางอย่างเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาเบื้องต้นตั้งแต่ชุดฟันน้ำนม หากทันตแพทย์ตรวจพบว่ามีปัญหากำลังเกิดขึ้นกับการสบฟันของน้อง ๆ บางครั้งจะใช้วิธีรอดู (wait-and-see approach) ไปก่อน และนัดมาติดตามผลเป็นระยะ ๆ เนื่องจากเด็กวัยนี้จะยังมีการเจริญของกระดูกขากรรไกรและใบหน้าอยู่ เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสม การจัดฟันก็จะเริ่มขึ้นได้ทันท่วงที

    การจัดฟันเบื้องต้น (Early treatment) ในเด็กจะต้องติดเหล็กจัดฟันไหม

    การจัดฟันในน้อง ๆ ที่ยังมีฟันน้ำนม หรือ ฟันชุดผสมอยู่นั้น จะมีวิธีการรักษาทางทันตกรรมจัดฟันที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัญหาของการสบฟันผิดปกตินั้น ๆ การติดเหล็กที่ตัวฟัน (bracket) ไม่ใช่การรักษาทั้งหมดของการจัดฟัน โดยทั่วไปการจัดฟันเบื้องต้นจะมีเป้าหมายเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ฟันแท้ขึ้นมาได้ปกติ ในผู้ป่วยบางราย การจัดฟันเบื้องต้นได้แก่การถอนฟันน้ำนมที่เป็นตัวปัญหาสำหรับการขึ้นของฟันแท้ ในบางรายจำเป็นต้องได้รับการฝึกกลืนใหม่ เพื่อปรับตำแหน่งของลิ้นขณะกลืนให้เหมาะสม ขณะที่บางรายอาจจะมีปัญหาการดูดนิ้ว ซึ่งการรักษาเหล่านี้จะเริ่มจากการปรับพฤติกรรมเหล่านี้ที่ทำให้เกิดการสบฟันผิดปกติในอนาคตได้ รวมไปถึงการใช้เครื่องมือทางทันตกรรมจัดฟัน ในน้อง ๆ บางคนที่มีเพดานปากที่แคบ จะทำให้ขากรรไกรบนมีที่ไม่เพียงพอต่อการขึ้นของฟันแท้ การรักษาจะใช้เครื่องมือขยายขากรรไกรบน ส่วนการจัดฟันแบบติดเหล็ก (braces) จะใช้เพื่อเรียงฟันในเด็กที่มีฟันแท้ขึ้นมาเกือบจะครบแล้ว

    ถ้าลูกได้รับการจัดฟันเบื้องต้นตั้งแต่ช่วงฟันน้ำนม เวลาที่ฟันแท้ขึ้น ยังต้องจัดฟันต่ออีกหรือไม่

    ไม่จำเป็นเสมอไป บางครั้งการจัดฟันเบื้องต้นสามารถแก้ไขปัญหาที่น้อง ๆ มีอยู่ได้แล้ว อย่างไรก็ตามน้อง ๆ บางคนยังต้องรับการรักษาการจัดฟันในระยะต่อไปที่ฟันแท้ขึ้นจะครบแล้ว เพื่อเรียงฟันและขากรรไกรให้เหมาะสมต่อไป

    ตัวอย่างของการสบฟันผิดปกติในเด็กมีอะไรบ้าง

    ตัวอย่างของการสบฟันผิดปกติที่พบได้ในเด็กที่มีฟันชุดผสม ได้แก่

    1. ขากรรไกรบนแคบกว่าขากรรไกรล่าง

    2. ฟันหน้าล่างสบคร่อมฟันหน้าบน

    3. ฟันหน้าบนยื่นมาก

    4. การสูญเสียฟันน้ำนมก่อนกำหนด

    5. ช่องว่างไม่พอสำหรับการขึ้นของฟันแท้

      การแก้ไขการสบฟันผิดปกติในชุดฟันผสมนั้น มักจะใช้เครื่องมือแบบจัดฟันแบบถอดได้ที่แก้ไขการสบฟันผิดปกติ เบื้องต้น เมื่อเด็กมีฟันแท้ขึ้นครบแล้ว (อายุเฉลี่ย 12 ปีขึ้นไป) จะได้รับการการักษาด้วยเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่นต่อไป

    Previous
    Previous

    ข้อควรปฏิบัติการใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้

    Next
    Next

    ขูดหินปูน และ เกลารากฟัน ต่างกันอย่างไร